30.7.11

สรุป ฎีกาเด่น ปี พ.ศ.2547

สรุป ฎีกาเด่น ปี พ.ศ.2547


๑. คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๓/๒๕๔๗
โจทก์ได้รับเงินเพราะเหตุออกจากงาน ๒ ประเภท คือ เงินชดเชยการเลิกจ้างซึ่งเป็นเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหาก ไม่ใช่นายจ้างของโจทก์เป็นผู้จ่าย เงินทั้งสองประเภทดังกล่าวจึงไม่ใช่ผู้จ่ายรายเดียวกันตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๔๕) ข้อ ๒ (ข) เมื่อโจทก์ได้รับเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีภาษี ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นคนละปีภาษีกับที่โจทก์ได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง โจทก์จึงชอบที่จะนำเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับในปีภาษี ๒๕๔๒ มาเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๘ (๕) ได้


๒. คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๔/๒๕๔๗
การยึดทรัพย์สินเพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้างตาม ป. รัษฎากร มาตรา ๑๒ ย่อมหมายความรวมถึงการนำเอาเงินที่จำเลยต้องคืนให้โจทก์มาหักกลบลบหนี้กับหนี้ภาษีอากรที่โจทก์ค้างจำเลยได้ด้วย แม้ในระหว่างนั้นโจทก์จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยก็มีอำนาจที่จะหักกลบลบหนี้ได้ เพราะไม่ถือว่าเป็นการทุเลาการเสียภาษีอากร ซึ่งโจทก์จะได้ทุเลาการเสียภาษีอากรต่อเมื่อโจทก์ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาได้ เมื่อโจทก์ได้รับสิทธิในการทุเลาการเสียภาษีอากรโดยยังไม่ต้องชำระภาษีอากรจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ฉะนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินที่จำเลยต้องคืนไปหักกลบลบหนี้กับภาษีอากรค้าง


๓. คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๕/๒๕๔๗
การหักลดหย่อนสำหรับบุตร ตามมาตรา ๔๗ แห่ง ป. รัษฎากร มิได้ให้ความหมายของคำว่า มหาวิทยาลัย หรือชั้นอุดมศึกษาไว้เป็นพิเศษ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ มหาวิทยาลัย หมายถึง สถาบันอุดมศึกษาที่มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาในด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงหลายสาขาวิชา หรือหลายกลุ่มสาขาวิชา เพื่อให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา ปริญญาและประกาศนียบัตรบัณฑิตแก่ผู้สำเร็จการศึกษา รวมทั้งดำเนินการวิจัยและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ ส่วนคำว่า อุดมศึกษา หมายถึง การศึกษาในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษา แสดงว่ากฎหมายประสงค์จะแบ่งเบาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมีบุตรที่มิได้เป็นผู้เยาว์และอายุยังไม่เกิน ๒๕ ปี แต่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาใด ๆ ในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษา อันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีระดับการศึกษาสูงขึ้น
สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เป็นสถาบันที่เนติบัณฑิตยสภาก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสิทธิ์ประสาทและส่งเสริมการศึกษานิติศาสตร์ และความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายโดยเฉพาะ โดยมีคณะอำนวยการศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๐๗ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. เนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๘ โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเป็นนักศึกษาของสำนักอบรม ฯ จะต้องเป็นผู้ที่สอบไล่ได้ปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ และเมื่อสอบความรู้ชั้นเนติบัณฑิตได้จะได้รับประกาศนียบัตรเป็นเนติบัณฑิต จึงเห็นได้ว่าสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาเป็นสถาบันการศึกษาในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษา สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาจึงเป็นชั้นอุดมศึกษาตามความหมายของมาตรา ๔๗ แห่ง ป. รัษฎากร โจทก์จึงมีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่มีอายุไม่เกิน ๒๕ ปี และกำลังศึกษาอยู่ที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาได้


๔. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๘/๒๕๔๗
จำเลยรับจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคาร เมื่อจำเลยส่งมอบงานงวดที่ ๖ ล่าช้า โจทก์แจ้งสงวนสิทธิขอปรับตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง จำเลยไม่ยินยอม คู่สัญญาจึงทำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา โดยอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ขยายเวลาปฏิบัติตามสัญญาออกไปอีก ๑๒๐ วัน นับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุด จำเลยมิได้ทำงานงวดที่ ๗ ถึงที่ ๑๐ โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยขอคิดค่าปรับจากจำเลยในช่วงเวลาที่ผิดสัญญา แต่แม้ตามสัญญาจะมีการกำหนดให้คิดเบี้ยปรับไว้ แต่เบี้ยปรับดังกล่าวก็เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอาจจะสูงหรือต่ำกว่าค่าเสียหายแท้จริงก็ได้ ซึ่งต้องปรับด้วย ป.พ.พ. มาตรา ๓๘๓ วรรคแรก ที่ให้ศาลพิจารณาลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนลงเป็นจำนวนที่พอสมควรตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่เหมาะสมโดยมิได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยในเวลาอันสมควร การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เอาวันหลังจากอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยและจำเลยทำหนังสือข้อตกลงขยายระยะเวลาปฏิบัติงานตามสัญญา ๑ เดือนเศษ โดยการขยายระยะเวลาดังกล่าวไม่มีผลให้ปฏิบัติได้จริง เพราะมีคำวินิจฉัยเมื่อพ้นกำหนดเวลานั้นแล้ว คงมีผลเพียงเพื่อลดวันที่จำเลยจะต้องชำระค่าปรับและจำเลยไม่อาจดำเนินการตามสัญญาต่อไปได้อีก เป็นวันเลิกสัญญา เป็นการใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องเป็นธรรมแล้ว


๕. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๐/๒๕๔๗
ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ กำหนดให้ผู้ทำแผนส่งแผนแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาว่าจะยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการนั้นหรือไม่ เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการแล้วก็ให้ศาลพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่งว่าแผนที่ผู้ทำแผนเสนอมานั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เช่นนี้ เมื่อมีข้อคัดค้านของเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ผู้ทำแผนจึงมีหน้าที่พิสูจน์ว่าแผนฟื้นฟูกิจการนั้นชอบด้วยกฎหมายและศาลควรมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
ในการพิจารณาปัญหาว่าเมื่อดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้ว จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่นั้น ศาลจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบจำนวนเงินหรือประโยชน์ที่เจ้าหนี้แต่ละรายซึ่งมิได้ลงมติยอมรับแผนจะได้รับในการฟื้นฟูกิจการ กับจำนวนเงินหรือประโยชน์ที่เจ้าหนี้ดังกล่าวจะได้รับกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ในการพิจารณาปัญหาดังกล่าวนี้การที่ทรัพย์สินของลูกหนี้จะมีราคาประเมินเพียงใด จึงเป็นสาระสำคัญ
แม้ว่าการกำหนดหรือวินิจฉัยราคาประเมินทรัพย์สินของลูกหนี้แต่ละช่วงจะไม่มีผลผูกพันต่อการพิจารณาในช่วงอื่น ๆ กล่าวคือ เมื่อมีการประเมินราคาทรัพย์สินโดยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ราคาประเมินย่อมแตกต่างกันได้ แต่คดีนี้มีการประเมินตีราคาทรัพย์สินในเวลาที่ต่างกันเพียงประมาณ ๕ ถึง ๖ เดือน ทรัพย์สินส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงที่ดินเปล่าหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในการประเมินมีราคาแตกต่างกันถึง ๒,๐๐๐ ล้านบาท กรณีจึงต้องมีเหตุอันสมควรและอธิบายถึงความแตกต่างดังกล่าวได้อย่างชัดเจน แต่ผู้ทำแผนก็มิได้แสดงเหตุดังกล่าวโดยชัดแจ้ง การประเมินราคาครั้งหลังเพื่อจัดทำแผน จึงไม่มีน้ำหนัก


๖. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๓/๒๕๔๗
การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๔ (๒) ที่กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้และหากธนาคารพาณิชย์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามย่อมมีความผิดทางอาญาตาม มาตรา ๔๔ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๓๖ กำหนดไว้ในข้อ ๓ (๑) และ (๒) ให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา อัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ส่วนต่างสูงสุดที่จะใช้บวกเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี กับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข และในข้อ ๓ (๔) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุด เว้นแต่ในกรณีลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยและส่วนลดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข แต่ตามสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองที่ทำกันเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๓๗ ข้อ ๒ ตกลงให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับแต่วันทำสัญญากู้เงินเป็นต้นไปอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์ที่ใช้อยู่ในขณะทำสัญญานี้ เป็นข้อสัญญาที่ให้สิทธิโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้ทั้งที่จำเลยทั้งสองยังไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญา ซึ่งโจทก์ยังไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตรานี้ได้โดยชอบ โดยจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตรานี้ได้ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาแล้วเท่านั้น จึงจะถูกต้องตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ข้อ ๓ (๔) ดังกล่าว ข้อสัญญาข้อนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๑๔ (๒) ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา ๔๔ จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ แม้ในทางปฏิบัติจริงโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราที่ต่ำกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้ข้อสัญญาที่ตกเป็นโมฆะนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้
ตามสัญญากู้เงิน ข้อ ๔ ที่ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่ระบุในข้อ ๒ ซึ่งหมายถึงอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข เป็นกรณีการคิดดอกเบี้ยนับแต่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้แล้ว ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้ สัญญาข้อ ๔ นี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะ แต่เป็นสัญญาที่กำหนดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยสูงเนื่องจากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๗๙ ซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจพิพากษาลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๘๓


๗. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๒/๒๕๔๗
การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามข้อหาหมิ่นประมาทต่อศาลจังหวัด ก. เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๒ ไว้แล้ว โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามในข้อหาเดียวกันต่อศาลจังหวัด ป. อีกในวันรุ่งขึ้น ฟ้องคดีหลังของโจทก์เป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง (๑) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ อันส่งผลให้คำสั่งประทับฟ้องของศาลจังหวัด ป. ไม่ชอบไปด้วย แม้ศาลจังหวัด ก. จะไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาหลังจากศาลจังหวัด ป. มีคำสั่งประทับฟ้องโจทก์ไว้แล้ว กรณีก็ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๘ (เดิม) เพราะไม่ใช่กรณีที่ศาลจังหวัด ป. มีคำสั่งประทับฟ้องไว้โดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลจังหวัด ก. ซึ่งโจทก์ฟ้องคดีเป็นศาลแรก จึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้


๘. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๕/๒๕๔๗
จำเลยกับพวกได้ก่อตั้งบริษัท ด. ขึ้น และได้โฆษณาทางหนังสือพิมพ์ประกาศแพร่ข่าวชักชวนประชาชนว่าบริษัท ด. เป็นบริษัทที่มั่นคงประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ต้องการรับสมัครพนักงานหรือบุคลากรเพิ่มหลายตำแหน่ง และโฆษณาชักชวนให้บุคคลทั่วไปนำเงินมาลงทุนในธุรกิจรูปแบบใหม่กับบริษัทซึ่งให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งความจริงแล้วบริษัท ด. ไม่ได้ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และไม่ได้เป็นตัวแทนซื้อขายสินค้าที่ประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อการลงข่าวประกาศทางหนังสือพิมพ์ ก. เป็นความเท็จโดยทุจริตของบริษัท ด. เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ ๒ ที่ได้อ่านข่าวหลงเชื่อ จึงไปติดต่อและมอบเงินให้จำเลยกับพวก การกระทำของจำเลยกับพวกสำหรับผู้เสียหายที่ ๒ จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน
ความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายที่ ๑ ที่ ๓ ถึงที่ ๗ และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนต่อผู้เสียหายที่ ๒ นั้น เป็นการกระทำต่างวันเวลาและต่างบุคคลกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ มิใช่ความผิดกรรมเดียว


๙. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๘/๒๕๔๗
การที่จำเลยให้การรับสารภาพและยื่นคำร้องขอวางเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ต่อศาลชั้นต้น โดยขอให้ศาลชั้นต้นแจ้งให้ผู้เสียหายมารับไปอันเป็นการบรรเทาความเสียหายบางส่วน แสดงว่าจำเลยวางเงินเพื่อจะชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายโดยมีเจตนาที่จะให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้แจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่จำเลยวางไว้ดังกล่าว และพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไปโดยไม่ได้วินิจฉัยถึงเหตุที่จำเลยพยายามบรรเทาความเสียหายด้วยการวางเงินต่อศาลเพื่อให้ผู้เสียหายรับไป แม้ต่อมาจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้รอการลงโทษจำคุกให้จำเลย โดยอ้างเหตุที่ได้วางเงินชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยและไม่ได้วินิจฉัยถึงเหตุที่จำเลยวางเงินต่อศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองไม่ดำเนินการแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่วางศาลและไม่วินิจฉัยถึงเหตุที่จำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายหรือความเสียหายด้วยการวางเงินชำระค่าเสียหายบางส่วนให้แก่ผู้เสียหายเพื่อใช้ดุลพินิจรอหรือไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลย และเมื่อคดีนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว โดยไม่มีการดำเนินการตามคำร้องของจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะขอถอนเงินที่วางต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวคืนไปได้


๑๐. คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๑/๒๕๔๗
จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง (เดิม) , ๖๖ วรรคสอง (เดิม) ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต จำเลยที่ ๑ เป็นข้าราชการ ซึ่ง พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐ บัญญัติให้ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น แต่เมื่อบทบัญญัติของกฎหมายมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตแล้ว จึงไม่อาจวางโทษเป็นสามเท่าได้อีก ทั้งไม่อาจนำมาตรา ๑๐ แห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาปรับด้วยได้ จำเลยที่ ๑ คงมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง (เดิม) , ๖๖ วรรคสอง (เดิม) เท่านั้น คงวางโทษจำเลยที่ ๑ ได้เพียงจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วางโทษจำเลยที่ ๑ ในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ๕๐ ปี และที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ ในความผิดดังกล่าวมีกำหนด ๔๕ ปี นั้น ไม่ต้องตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๖ วรรคสอง (เดิม) โดยลงโทษต่ำกว่าอัตราโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ จึงไม่อาจแก้ไขกำหนดโทษให้เป็นไปตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๒ ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕


๑๑. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๑/๒๕๔๗
แม้โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งจากจำเลยที่ ๑ ก่อนวันชี้สองสถานว่า ที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้น แต่โจทก์ยังโต้แย้งคัดค้านการรังวัดที่ดินดังกล่าวของเจ้าพนักงานว่าไม่ถูกต้อง ขอให้จำเลยที่ ๑ ตรวจสอบรังวัดกันใหม่ ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ ๑ ได้ไปรังวัดกันใหม่ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๓ ภายหลังจากวันชี้สองสถานแล้ว ผลปรากฏว่าที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นตามจำนวนเนื้อที่ที่จำเลยที่ ๑ เคยแจ้งให้โจทก์ทราบ กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์เพิ่งทราบและยอมรับว่าที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๓ ภายหลังจากวันชี้สองสถานแล้ว จึงมีเหตุอันสมควรที่โจทก์ไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเกี่ยวกับเนื้อที่ของที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นได้ก่อนวันชี้สองสถาน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๘๐ ชอบที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเกี่ยวกับเนื้อที่ของที่ดินที่ถูกเวนคืนเพิ่มขึ้นดังกล่าวได้


๑๒. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๒/๒๕๔๗
จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการของจำเลยที่ ๑ ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๒๕ จึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ในค่าชดเชยต่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างแต่ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว


๑๓. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๘/๒๕๔๗
ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาตกเป็นของอธิบดีกรมที่ดิน ตาม ป. ที่ดิน มาตรา ๘ แต่สำหรับทางสาธารณประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๔ (๒) พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๑๒๒ ได้บัญญัติให้กรมการอำเภอเป็นผู้มีหน้าที่ตรวจตรารักษา ซึ่งต่อมาได้โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ ตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖๒ วรรคสาม ดังนั้น อำนาจในการกำหนดแนวเขตทางสาธารณะจึงมิใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลย การที่เจ้าพนักงานที่ดินในสังกัดส่วนราชการของจำเลยได้รังวัดที่ดินและระบุว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะตามที่ผู้ได้รับมอบหมายจากนายอำเภอนำชี้และระวังแนวเขตที่ดิน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง


๑๔. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๗/๒๕๔๗
บริษัท น. ได้รับสิทธิให้ทำการฉายภาพยนตร์เรื่อง ทูดายฟอร์ ในโรงภาพยนตร์ รวมทั้งทำเป็นวิดีโอออกขายหรือให้เช่าแต่ผู้เดียวในประเทศไทย เมื่อจำเลยกระทำละเมิดโดยนำเอาแถบบันทึกภาพและเสียงภาพยนตร์หรือวิดีโอเทปเรื่องดังกล่าวออกให้เช่าหรือเสนอให้เช่าแก่บุคคลทั่วไป จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ภาพยนตร์ดังกล่าว บริษัท น. จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้


๑๕. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๔/๒๕๔๗
ปัญหาว่าเจ้าหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ทำการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยจัดทางเข้าออกที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในฐานละเมิดหรือไม่และมีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยจัดทางเข้าออกที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔ และมาตรา ๑๔๒ (๕) โดยไม่จำเป็นต้องมีคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอให้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเสียก่อน
ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง เมื่อรัฐมนตรี ฯ มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลขอเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มภายในหนึ่งปีนับแต่วันพ้นหกสิบวันที่รัฐมนตรี ฯ ได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์ หาจำเป็นต้องรอให้รัฐมนตรี ฯ วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ก่อนไม่ โจทก์ปล่อยให้ล่วงเลยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วค่อยมาฟ้องเป็นคดีนี้อันเป็นเหตุให้โจทก์สิ้นสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มซึ่งเป็นการกระทำของโจทก์เอง มิใช่เกิดจากการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฯ ไม่พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันรับคำอุทธรณ์ของโจทก์ จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่จะต้องเวนคืนจะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพียงใดต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ กำหนดไว้ ซึ่ง พ.ร.บ. นี้บัญญัติเรื่องค่าทดแทนไว้ในหมวด ๒ เงินค่าทดแทน ไม่มีบทบัญญัติที่บังคับให้จำเลยต้องสร้างทางออกให้สำหรับที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนสู่ทางสาธารณะ และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๐ ข้อ ๒ ข้อ ๖ (๓) ข้อ ๒๙ วรรคหนึ่ง ข้อ ๓๐ และข้อ ๓๑ ให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจในการวางแผน สำรวจ ออกแบบเกี่ยวกับการสร้างหรือขยายทางพิเศษสายนี้ และบำรุงรักษาทางพิเศษสายนี้ในที่ดินของโจทก์และของผู้อื่นที่ถูกเวนคืนมานั้น โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอให้จำเลยสร้างทางซึ่งจะต้องสร้างขึ้นในเขตทางพิเศษสายนี้เพื่อให้ที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีทางออกสู่ถนนสาธารณะ


๑๖. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๕/๒๕๔๗
ฟ้องของโจทก์ไม่ได้กล่าวหาและขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในฐานละเมิด แต่ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของโจทก์ที่ไม่สามารถโอนที่ดินตามสัญญาให้แก่ผู้จะซื้อได้ เพราะที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนอันเนื่องจากการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ ดังนั้นโจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเพียงใดต้องเป็นไปตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ บัญญัติไว้ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้บัญญัติเรื่องเงินค่าทดแทนไว้ในหมวด ๒ เงินค่าทดแทน ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้จ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับค่าเสียหายในการที่โจทก์ต้องผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินของโจทก์เพราะที่ดินดังกล่าวถูกเวนคืน ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดค่าเสียหายในส่วนนี้


๑๗. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๑/๒๕๔๗
หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ ๑ ทำกับ ส. ระบุว่า จำเลยที่ ๑ ได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของ ส. แล้วยักยอกเงินดังกล่าวไป จึงตกลงคืนเงินที่ยักยอกไปให้แก่ ส. นั้น เป็นเพียงหนังสือที่จำเลยที่ ๑ รับว่าเป็นหนี้ ส. และยอมชำระหนี้แก่ ส. ไม่มีข้อความที่จำเลยที่ ๑ กับ ส. ตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ อันจะทำให้หนี้จากมูลละเมิดระงับสิ้นไป
โจทก์เป็นธนาคารซึ่งได้รับฝากเงินของ ส. ผู้เป็นลูกค้า ย่อมมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ ส. ฝากไว้เมื่อ ส. ทวงถาม การที่จำเลยที่ ๑ ได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของ ส. แล้วยักยอกเงินดังกล่าวไป ทำให้เงินในบัญชีเงินฝากของ ส. ขาดหายไป โจทก์มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ขาดหายไปให้แก่ ส. ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๗๒ การที่โจทก์คืนเงินที่จำเลยที่ ๑ ยักยอกไปให้แก่ ส. จึงมิใช่เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้ว่าไม่มีหนี้ต้องชำระ เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่ ส. ไปแล้ว ย่อมมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ ๑ รับผิดในเงินที่ชำระไปได้ตามมาตรา ๔๒๐


๑๘. คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๙/๒๕๔๗
โจทก์ร่วมทำสัญญากับจำเลยซึ่งประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน โดยให้จำเลยมีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้อน้ำมันจากโจทก์ร่วมมาจำหน่ายเท่านั้น จำเลยผิดสัญญาโดยไปซื้อน้ำมันจากแหล่งอื่นมาจำหน่าย โจทก์ร่วมบอกเลิกสัญญาให้จำเลยส่งคืนสถานีบริการน้ำมันแก่โจทก์ร่วม รวมทั้งเพิกถอนความยินยอมให้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม แต่จำเลยก็ยังคงประกอบการค้าต่อไปโดยซื้อน้ำมันจากที่อื่นมาจำหน่าย และยังคงติดป้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมอยู่บริเวณสถานีบริการน้ำมัน โดยมิได้แสดงเครื่องหมายให้ประชาชนเข้าใจว่าสถานีบริการน้ำมันนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันของโจทก์ร่วม แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะขายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าสินค้าที่จำเลยจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าของโจทก์ร่วม จึงเป็นการขายของโดยหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดแห่งของอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา ๒๗๑
โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำความผิดดังกล่าวของจำเลยเฉพาะในส่วนที่จำเลยได้ขายน้ำมันให้แก่ ส. และ อ. ซึ่งเป็นผู้ไปทำการล่อซื้อน้ำมันดังกล่าว โดยที่ ส. และ อ. มิได้หลงเชื่ออยู่แล้วว่าน้ำมันที่จำเลยนำออกจำหน่ายนั้นเป็นน้ำมันของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล อันเป็นการพยายามกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๒๗๑ ประกอบมาตรา ๘๐
ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พุทธศักราช ๒๔๗๔ มาตรา ๔๙ เป็นความผิดที่บัญญัติลงโทษแก่ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งละเลยไม่ปิดป้ายเครื่องหมายไว้ ณ ที่ที่เห็นได้ง่ายตามมาตรา ๙ เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สถานที่สำหรับการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงคือห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. แม้จำเลยจะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๙ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พุทธศักราช ๒๔๗๔ มาตรา ๙ , ๔๙


๑๙. คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๐๕/๒๕๔๗
องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๖ นั้น ผู้มั่วสุมต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๕ โดยการมั่วสุมนั้นยังไม่ถึงขั้นลงมือกระทำการอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๕ แต่หากผู้นั้นกระทำการดังที่มาตรา ๒๑๕ บัญญัติไว้ ก็จะมีความผิดทั้งมาตรา ๒๑๕ และมาตรา ๒๑๖ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท การที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ชุมนุมปราศรัยด้วยความสงบ ไม่มีพฤติการณ์ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง แสดงว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ กับพวกมิได้มั่วสุมโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา ๒๑๕ ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๒๑๖ จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๖


๒๐. คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๐๗/๒๕๔๗
เงินเพิ่มตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๑๑๒ จัตวา กับเงินเพิ่มภาษีการค้าตามมาตรา ๘๙ ทวิ แห่ง ป. รัษฎากร ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และเงินเพิ่มภาษีส่วนท้องถิ่นมิใช่ดอกเบี้ยหรือค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๙ วรรคหนึ่ง ทั้งบทมาตราดังกล่าวหาใช่บทกฎหมายใกล้เคียงที่จะนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มค่าภาษีก่อนได้ กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่มีประกันเท่า ๆ กัน ให้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เป็นอันได้เปลื้องไปก่อน เมื่อหนี้ค่าภาษีเป็นรายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้ เพราะมีภาระเงินเพิ่มตามกฎหมาย ดังนี้ หนี้ค่าภาษีย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๒๘ วรรคสอง จึงต้องนำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระไปหักชำระค่าภาษีก่อน


No comments:

Post a Comment